วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การเรียนรู้แบบเรียนรวม

 ฉวีวรรณ โยคิน ( http://61.19.246.216/~nkedu2/?name=webboard&file=read&id=177 ) ได้กล่าวถึงการเรียนรู้แบบเรียนรวมไว้ดังนี้  การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม ถือว่า เป็นแนวคิดใหม่ทางการศึกษาที่โรงเรียนจะต้องจัดการศึกษาให้กับเด็กทุกคน ไม่มีการแบ่งแยกว่าเด็กคนใดเป็นเด็กทั่วไป หรือเด็กคนใดที่มีความต้องการพิเศษ โดยโรงเรียนจะต้องจัดการศึกษาให้อย่างเหมาะสม ตามหลักการเรียนรวม เด็กที่มีความต้องการพิเศษจะได้เรียนในโรงเรียนปกติใกล้บ้านโดยไม่มีการแบ่งแยก ได้เรียนในชั้นเดียวกับเพื่อนในวัยเดียวกันไม่มีห้องเรียนพิเศษการช่วยเหลือสนับสนุนอื่นๆ จะจัดอยู่ในสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนปกติ ทั้งนี้โรงเรียนต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบให้มีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของเด็กแต่ละคน และ เด็กทุกคนมีฐานะเป็นสมาชิกหนึ่งของโรงเรียนมีสิทธิ มีความเสมอภาค เท่าเทียมกัน ซึ่ง เป้าประสงค์ของการเรียนรวม คือ การจัดโอกาสสำหรับนักเรียนทุกคนให้บรรลุขีดศักยภาพในการศึกษาทั่วไป เพื่อให้เด็กสามารถดำรงชีพในสังคมร่วมกันได้อย่างมีความสุขและยอมรับซึ่งกัน และการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมเป็น การให้โอกาสเด็กพิการได้เรียนอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับเด็กทั่วไป ในสภาพห้องเรียนปกติ ซึ่งหากได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธีแล้ว เด็กพิการสามารถประสบความสำเร็จได้ การเรียนรวมทำให้เด็กพิการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กทั่วไปและรอดพ้นจากการถูกตีตราว่าเป็นเด็กพิการ ทำให้เด็กทั้งสองกลุ่มยอมรับซึ่งกันและกัน การจัดการศึกษาแบบเรียนรวมจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ให้โอกาสแก่คนพิการได้พัฒนาศักยภาพทุกด้านในระบบของโรงเรียนที่จัดให้
      การเรียนรวมจึงมิใช่การศึกษาเฉพาะเด็กที่มีความต้องการพิเศษเท่านั้นหากแต่เป็นการศึกษาเพื่อเด็กทุกคน การจัดการเรียนการสอนและการดำเนินการต่างๆจะเป็นการผสมผสานระหว่างหลักการทางการศึกษาพิเศษ และการศึกษาทั่วไปการเรียนรวมในประเทศไทย แม้ว่าจะได้ดำเนินการไป แต่ก็ยังมีปัญหาหลากหลายทั้งในการบริหารจัดการ การบริหารหลักสูตร การประเมินความต้องการพิเศษทางการศึกษาของเด็ก การจัดหาสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก และการช่วยเหลือ และการช่วยเหลือเกื้อกูลอันจำเป็นที่จะทำให้การเรียนรวมดำเนินไปได้ การปรับวิธีสอน และการปรับวิธีการวัดผล เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความต้องการของผู้เรียน อีกประการหนึ่งการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมที่ขาดประสิทธิภาพอาจเป็นผลเนื่องมาจากความเข้าใจผิด และกลไกที่เป็นปัญหาหลายประการที่มาจากทั้งปัจจัยภายในโรงเรียนเอง และปัจจัยภายนอกโรงเรียน เช่น ขาดบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าใจการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษอย่างแท้จริง ปัญหานานัปการเหล่านี้ ทำให้การเรียนรวมดำเนินไปในวงจำกัดและไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรแม้ว่า การจัดการศึกษาพิเศษให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งเป็นบุคคลส่วนน้อยของประเทศแต่ก็ เป็นการจัดการศึกษาที่ต้องลงทุนสูงทั้งด้านการเงิน เวลา ทรัพยากร ทุกด้าน หลายคนอาจมองว่าเป็นภาระของประเทศ แต่โดยสิทธิมนุษยชน เขาต้องได้รับการดูแลเพราะไม่ใช่ว่าเขาเลือกเกิด เองได้ รัฐ และนักการศึกษา ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตลอดจนชุมชนในสังคม ต้องรับทราบปัญหาและให้โอกาสเขาได้เรียนรู้ตามศักยภาพที่มีอยู่ เพื่อสามารถพัฒนาตนเองได้ และไม่ให้เป็นภาระต่อส่วนรวมในสังคมต่อไป 

พรรณิดา  ผุสดี.(http://www.oknation.net/blog/pannida/2012/11/12/entry-10) ได้กล่าวถึงการเรียนรู้แบบเรียนรวมไว้ดังนี้ การศึกษาแบบเรียนรวม หมายถึง การรับเด็กเข้ารับการศึกษาโดยไม่แบ่งแยกความบกพร่องของเด็ก หรือคัดแยกเด็กที่ด้อยว่าเด็กส่วนใหญ่ออกจากชั้นเรียน แต่จะใช้การบริหารจัดการและวิธีการในการให้เด็กเกิดการเรียนรู้และพัฒนาการตามความต้องการ จำเป็นอย่างเหมาะสมเป็นรายบุคคล
 ลักษณะของการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
ความแตกต่างจากรูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษและเด็กปกติคือ จะต้องถือหลักการดังนี้
เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน
เด็กทุกคนเข้าเรียนในโรงเรียนพร้อมกัน
โรงเรียนจะต้องปรับสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ทุกด้านเพื่อให้สามารถสอนเด็กได้ทุกคน
โรงเรียนจะต้องให้บริการ สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกและความช่วยเหลือต่าง ๆ ทางการศึกษาให้แก่เด็กที่มีความต้องการจำเป็นนอกเหนือจากเด็กปกติทุกคน
โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาได้หลายรูปแบบในโรงเรียนปกติทั่วไปโดยจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่มีขีดจำกัดน้อยที่สุด
ศึกษาแบบเรียนรวมมีรูปแบบใด
การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม เป็นการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษที่มีขีดจำกัดน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ การศึกษาแบบเรียนรวมจะมีบรรยากาศที่เป็นจริงตามสภาพของสังคมในปัจจุบัน ซึ่งทุกคนในโรงเรียนจะมีความตระหนักเกี่ยวกับสิทธิความเสมอภาคในด้านการศึกษา มีความแตกต่างกันตามศักยภาพในการเรียนรู้ มีความร่วมมือช่วยเหลือกันและกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้ ฝึกทักษะความสามารถในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเป็นสุข มีความยืดหยุ่นและปฏิบัติตนตามสภาพจริงได้อย่างเหมาะสม

อรธิดา  ประสาร (home.kku.ac.th/uac/journal/year_17_1-4_2552/9.pdf) ได้กล่าวถึงการเรียนรู้แบบเรียนรวมไว้ดังนี้  การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม การจัดการศึกษาภายใต้ปรัชญาที่เห็นทุกคนมีค่าเท่าเทียมกัน  ทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน  เด็กทุกคนสามารถเรียนร่วมกันได้  โรงเรียนต้องรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติไม่มีการแบ่งแยกว่าเด็กคนใดพิการเด็กคนใดปกติเด็กทุกคนจะเรียนด้วยกัน  ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโดยไม่มีการแบ่งแยก  โรงเรียนจะมีการเตรียมครู  การจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเรียน  การจัดสื่อ  สิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษอย่างทั่วถึง

สรุปการเรียนรู้แบบเรียนรวม
เป็นการจัดการเรียนที่ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน   เด็กทุกคนสามารถเรียนร่วมกันได้โรงเรียนจะต้องจัดการศึกษาให้กับเด็กทุกคน ไม่มีการแบ่งแยกว่าเด็กคนใดเป็นเด็กทั่วไป หรือเด็กคนใดที่มีความต้องการพิเศษ โดยโรงเรียนจะต้องจัดการศึกษาให้อย่างเหมาะสม   

ที่มา :
ฉวีวรรณ โยคิน. [Online]  http://61.19.246.216/~nkedu2/?name=webboard&file=read&id=177. การศึกษาแบบเรียนรวม. เข้าถึงเมื่อ 17 กรกฎาคม 2558.
พรรณิดา  ผุสดี.[Online] http://www.oknation.net/blog/pannida/2012/11/12/entry-10 .การจัดการศึกษาแบบเรียนรวมและจัดการศึกษาแบบเรียนร่วม.เข้าถึงเมื่อ 17 กรกฎาคม 2558.
อรธิดา  ประสาร. [Online]  home.kku.ac.th/uac/journal/year_17_1-4_2552/9.pdf .ศตวรรษใหม่แห่งการจัดการศึกษาแบบองค์รวม.เข้าถึงเมื่อ 17 กรกฎาคม 2558.


การประเมินผลการเรียนรู้

                ภูมิชนะ เกิดพงษ์ (https://www.gotoknow.org/posts/181202.) ได้รวบรวมความหมายของวัดผลและการประเมินผลไว้ว่า   การวัดผลและการประเมินผลมีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ การวัดผลจะทำให้ได้ตัวเลข ปริมาณ หรือรายละเอียดของคุณลักษณะหรือพฤติกรรมของบุคคล จากนั้นจะนำเอาผลการวัดนี้ไปพิจารณาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพื่อตัดสิน หรือลงสรุปเกี่ยวกับสิ่งนั้น ซึ่งเรียกว่าการประเมินผลการวัดผลและประเมินผลการศึกษา เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนการสอนตลอดเวลา ซึ่งจุดมุ่งหมายของการวัดผลและประเมินผลนั้น ไม่ใช่เฉพาะการนำผลการวัดไปตัดสินได้-ตก หรือใครควรจะได้เกรดอะไรเท่านั้น แต่ควรนำผลการวัดและประเมินนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาในหลาย ๆ ลักษณะดังนี้
1. เพื่อค้นและพัฒนาสมรรถภาพของนักเรียน หมายถึงการวัดผลและประเมินผลเพื่อดูว่านักเรียนบกพร่องหรือไม่เข้าใจในเรื่องใด ตอนใด แล้วครูพยายามสอนให้นักเรียนเกิดความรู้ มีความเจริญงอกงามตามศักยภาพของตนเอง จุดมุ่งหมายข้อนี้สำคัญมาก หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น ปรัชญาการวัดผลการศึกษา (ชวาล แพรัตกุล. 2516 : 34)
2. เพื่อจัดตำแหน่ง (placement) การวัดผลและประเมินผลวิธีนี้เพื่อเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นๆ โดยอาศัยกลุ่มเป็นเกณฑ์ว่าใครเด่น-ด้อย ใครได้อันดับที่ 1 ใครสอบได้-ตก หรือใครควรได้เกรดอะไร เป็นต้น การวัดผลและประเมินผลวิธีนี้เหมาะสำหรับการตัดสินผลการเรียนแบบอิงกลุ่ม และการคัดเลือกคนเข้าทำงาน
3. เพื่อวินิจฉัย (diagnostic) เป็นการวัดผลและประเมินผลที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อหาความบกพร่องของผู้เรียนว่าวิชาที่เรียนนั้นมีจุดบกพร่องตอนใด เพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไข ซ่อมเสริมส่วนที่ขาดหายไปให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในกระบวนการเรียนการสอนเรียกว่าการวัดผลย่อย (formative measurement)
4. เพื่อเปรียบเทียบ (assessment) เป็นการวัดผลและประเมินผลเพื่อเปรียบเทียบตนเอง หรือ เพื่อดูความงอกงามของเด็กแต่ละคนในช่วงเวลาที่ต่างกัน ว่าเจริญงอกงามเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมากน้อยเพียงใด เช่น การเปรียบเทียบผลก่อนเรียน(pre-test) และหลังเรียน (post-test)
 5. เพื่อพยากรณ์ (prediction) เป็นการวัดผลและประเมินผลเพื่อทำนายอนาคตต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร นั่นคือเมื่อเด็กคนหนึ่งสอบแล้วสามารถรู้อนาคตได้เลยว่า ถ้าการเรียนของเด็กอยู่ในลักษณะนี้ต่อไปแล้วการเรียนจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในเรื่องของการแนะแนวการศึกษาว่านักเรียนควรเรียนสาขาใด หรืออาชีพใดจึงจะเรียนได้สำเร็จ แบบทดสอบที่ใช้วัด  จุดมุ่งหมายในข้อนี้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดความถนัด (aptitude test) แบบทดสอบวัดเชาว์ปัญญา (intelligence test) เป็นต้น
6.เพื่อประเมินผล(evaluation)เป็นการนำผลที่ได้จากการวัดไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพื่อตัดสินลงสรุปให้คุณค่าของการศึกษา หลักสูตรหรือ เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลว่าเหมาะสมหรือไม่ และควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร

            ทิวัตถ์  มณีโชติ (ird.rmuti.ac.th/newweb/fmanager/files/1Tiwat.doc) ได้รวบรวมเกี่ยวกับการประเมินผลการเรียนรู้ไว้ดังนี้  การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน  เป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทำให้ได้ข้อมูลสารสนเทศที่จำเป็นในการพิจารณาว่าผู้เรียนเกิดคุณภาพการเรียนรู้ตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและมาตรฐานการเรียนรู้
การวัดและประเมินผลการเรียนนอกจากจะมีประโยชน์โดยตรงต่อผู้เรียนแล้ว ยังสะท้อนถึงประสิทธิภาพการการสอนของครู  และเป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนคุณภาพการดำเนินงานการจัดการศึกษาของสถานศึกษาด้วย   ดังนั้นครูและสถานศึกษาต้องมีข้อมูลผลการเรียนรู้ของผู้เรียน  ทั้งจากการประเมินในระดับชั้นเรียน  ระดับสถานศึกษา  และระดับอื่นที่สูงขึ้น  ประโยชน์ของการวัดและการประเมินผลการเรียนรู้จำแนกเป็นด้านๆ ดังนี้
        1. ด้านการจัดการเรียนรู้
การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนมีประโยชน์ต่อการจัดการเรียนรู้หรือการจัดการเรียนการสอนดังนี้
            1.1  เพื่อจัดตำแหน่ง (Placement)  ผลจากการวัดบอกได้ว่าผู้เรียนมีความรู้ความสามารถอยู่ในระดับใดของกลุ่มหรือเปรียบเทียบกับเกณฑ์แล้วอยู่ในระดับใด  การวัดและประเมินเพื่อจัดตำแหน่งนี้ มักใช้ในวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ
1.1.1 เพื่อคัดเลือก (Selection) เป็นการใช้ผลการวัดเพื่อคัดเลือกเพื่อเข้าเรียน  เข้าร่วมกิจกรรม-โครงการ  หรือเป็นตัวแทน(เช่นของชั้นเรียนหรือสถานศึกษา)  เพื่อการทำกิจกรรม  หรือการให้ทุนผล  การวัดและประเมินผลลักษณะนี้คำนึงถึงการจัดอันดับที่เป็นสำคัญ
1.1.2 เพื่อแยกประเภท (Classification) เป็นการใช้ผลการวัดและประเมินเพื่อแบ่งกลุ่มผู้เรียน เช่น แบ่งเป็นกลุ่มอ่อน ปานกลาง  และเก่ง  แบ่งกลุ่มผ่าน-ไม่ผ่านเกณฑ์ หรือตัดสินได้-ตก  เป็นต้น  เป็นการวัดและประเมินที่ยึดเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งกลุ่มเป็นสำคัญ
            1.2  เพื่อวินิจฉัย (Diagnostic) เป็นการใช้ผลการวัดและประเมินเพื่อค้นหาจุดเด่น-จุดด้อยของผู้เรียนว่ามีปัญหาในเรื่องใด  จุดใด  มากน้อยแค่ไหน  เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจการวางแผนการจัดการเรียนรู้และการปรับปรุงการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เครื่องมือที่ใช้วัดเพื่อการวินิจฉับ เรียกว่า แบบทดสอบวินิจฉัย (Diagnostic Test) หรือแบบทดสอบวินิจฉัยการเรียน  ประโยชน์ของการวัดและประเมินประเภทนี้นำไปใช้ในวัตถุประสงค์ 2 ประการดังนี้
1.2.1 เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน     ผลการวัดผู้เรียนด้วยแบบทดสอบวินิจฉัยการเรียนจะทำให้ทราบว่าผู้เรียนมีจุดบกพร่องจุดใด  มากน้อยเพียงใด ซึ่งครูผู้สอนสามารถแก้ไขปรับปรุงโดยการสอนซ่อมเสริม (Remedial Teaching) ได้ตรงจุด เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่คาดหวังไว้
1.2.2 เพื่อปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ ผลการวัดด้วยแบบทดสอบวินิจฉัยการเรียน นอกจากจะช่วยให้เห็นว่าผู้เรียนมีจุดบกพร่องเรื่องใดแล้ว ยังช่วยให้เห็นจุดบกพร่องของกระบวนการจัดการเรียนรู้อีกด้วย เช่น ผู้เรียนส่วนใหญ่มีจุดบกพร่องจุดเดียวกัน  ครูผู้สอนต้องทบทวนว่าอาจจะเป็นเพราะวิธีการจัดการเรียนรู้ไม่เหมาะสมต้องปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม
1.3 เพื่อตรวจสอบและปรับปรุง  การประเมินเพื่อพัฒนา (Formative Evaluation)  เป็นการประเมินเพื่อตรวจสอบผลการเรียนรู้เทียบกับจุดประสงค์หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง  ผลจากการประเมินใช้พัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  โดยอาจจะปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนวิธีการสอน (Teaching Method) ปรับเปลี่ยนสื่อการสอน (Teaching Media) ใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ (Teaching Innovation) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
1.4 เพื่อการเปรียบเทียบ (Assessment) เป็นการใช้ผลการวัดและประเมินเปรียบเทียบว่าผู้เรียนมีพัฒนาการจากเดิมเพียงใด และอยู่ในระดับที่พึงพอใจหรือไม่
1.5 เพื่อการตัดสิน  การประเมินเพื่อการตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนเป็นการประเมินรวม (Summative Evaluation)  คือใช้ข้อมูลที่ได้จากการวัดเทียบกับเกณฑ์เพื่อตัดสินผลการเรียนว่าผ่าน-ไม่ผ่าน  หรือให้ระดับคะแนน 
         2 ด้านการแนะแนว
ผลจากการวัดและประเมินผู้เรียน  ช่วยให้ทราบว่าผู้เรียนมีปัญหาและข้อบกพร่องในเรื่องใด มากน้อยเพียงใด  ซึ่งสามารถแนะนำและช่วยเหลือผู้เรียนให้แก้ปัญหา มีการปรับตัวได้ถูกต้องตรงประเด็น  นอกจากนี้ผลการวัดและประเมินยังบ่งบอกความรู้ความสามารถ ความถนัด และความสนใจของผู้เรียน ซึ่งสามารถนำไปใช้แนะแนวการศึกษาต่อและแนะแนวการเลือกอาชีพให้แก่ผู้เรียนได้
         3. ด้านการบริหาร
ข้อมูลจากการวัดและประเมินผู้เรียน ช่วยให้ผู้บริหารเห็นข้อบกพร่องต่างๆ ของการจัดการเรียนรู้ เป็นการประเมินผลการปฏิบัติงานของครู  และบ่งบอกถึงคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษามักใช้ข้อมูลได้จากการวัดและประเมินใช้ในการตัดสินใจหลายอย่าง เช่น การพัฒนาบุคลากร  การจัดครูเข้าสอน การจัดโครงการ  การเปลี่ยนแปลงโปรแกรมการเรียน นอกจากนี้การวัดและประเมินผลยังให้ข้อมูลที่สำคัญใน
การจัดทำรายงานการประเมินตนเอง (SSR) เพื่อรายงานผลการจัดการศึกษาสู่ผู้ปกครอง  สาธารณชน หน่วยงานต้นสังกัด  และนำไปสู่การรองรับการประเมินภายนอก จะเห็นว่าการวัดและประเมินผลการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของระบบการประกันคุณภาพทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา
        4. ด้านการวิจัย
การวัดและประเมินผลมีประโยชน์ต่อการวิจัยหลายประการดังนี้
4.1  ข้อมูลจาการวัดและประเมินผลนำไปสู่ปัญหาการวิจัย  เช่น ผลจากการวัดและประเมินพบว่าผู้เรียนมีจุดบกพร่องหรือมีจุดที่ควรพัฒนาการแก้ไขจุดบกพร่องหรือการพัฒนาดังกล่าวโดยการปรับเปลี่ยนเทคนิควิธีสอนหรือทดลองใช้นวัตกรรมโดยใช้กระบวนการวิจัย การวิจัยดังกล่าวเรียกว่า  การวิจัยในชั้นเรียน (Classroom Research)  นอกจากนี้ผลจากการวัดและประเมินยังนำไปสู่การวิจัยในด้านอื่น ระดับอื่น  เช่น การวิจัยของสถานศึกษาเกี่ยวกับการทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาคุณลักษณะของผู้เรียน เป็นต้น
4.2  การวัดและประเมินเป็นเครื่องมือของการวิจัย  การวิจัยใช้การวัดในการรวบรวมข้อมูลเพื่อศึกษาผลการวิจัย ขั้นตอนนี้เริ่มจากการหาหรือสร้างเครื่องมือวัด  การทดลองใช้เครื่องมือ  การหาคุณภาพเครื่องมือ  จนถึงการใช้เครื่องมือที่มีคุณภาพแล้วรวบรวมข้อมูลการวัดตัวแปรที่ศึกษา  หรืออาจต้องตีค่าข้อมูล  จะเห็นว่าการวัดและประเมินผลมีบทบาทสำคัญมากในการวิจัย  เพราะการวัดไม่ดี  ใช้เครื่องมือไม่มีคุณภาพ  ผลของการวิจัยก็ขาดความน่าเชื่อถือ
การวัดและประเมินก่อนเรียน  ระหว่างเรียน  และหลังเรียน
ก่อนเรียน ระหว่างเรียน และหลังเรียน 3 คำนี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน  แต่ต่างกันที่ระยะเวลาและจุดประสงค์ของการวัดและประเมิน  3 คำนี้มีความหมายทั้งในมิติที่กว้างและแคบ  ดังนี้
         1. ก่อนเรียน  
การวัดและประเมินก่อนเรียนมีจุดประสงค์เพื่อมทราบสภาพของผู้เรียน ณ เวลาก่อนที่จะเรียน เช่น ความรู้พื้นฐานในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ  ก่อนเรียนอาจจะหมายถึง
1.1  ก่อนเข้าเรียน  ซึ่งอาจจะตั้งแต่ก่อนเรียนระดับปฐมวัย หรือก่อนจะเริ่มเรียนหลักสูตรสถานศึกษานั้น  เช่น สถานศึกษาที่เปิดสอนในช่วงชั้นที่ 1 และ 2  ก่อนเรียนในที่นี้อาจจะหมายถึงก่อนเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เป็นต้น
1.2  ก่อนเรียนช่วงชั้น  หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ความสำคัญกับช่วงชั้น  ให้มีการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนเมื่อจบแต่ละช่วงชั้น  ก่อนเรียนในที่นี้จึงหมายถึงก่อนจะเริ่มเรียนช่วงชั้นใดช่วงชั้นหนึ่ง เช่น ก่อนเรียนช่วงชั้นที่ 2 คือ ก่อนเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เป็นต้น
1.3  ก่อนเรียนแต่ละชั้น  ถึงแม้จะมีการกำหนดเป็นช่วงชั้น  แต่ชั้นเรียนหรือการเรียนแต่ละปีก็ยังมีความสำคัญ  โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษา  การเรียนแต่ละชั้น/ปี อาจจะหมายถึงการเรียนกับครูคนใดคนหนึ่ง (กรณีที่ครูคนเดียวสอนนักเรียนทั้งชั้นทุกวิชาหรือเกือบทุกวิชา  โดยทั่วไปจะเป็นครูประจำชั้น) หรือเรียนครูกลุ่มหนึ่ง (สอนแยกรายวิชา)  การวัดและประเมินก่อนเรียนแต่ละชั้นจะเป็นประโยชน์ต่อครูผู้สอนในการวางแผนการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนตลอดทั้งปี
1.4  ก่อนเรียนแต่ละรายวิชา  มีลักษณะเช่นเดียวกับก่อนเรียนแต่ละชั้น  การวัดและประเมินก่อนเรียนแต่ละชั้นอาจจะวัดและประเมินในภาพรวมหลายๆ วิชา  แต่การวัดและประเมินนี้  แยกวัดและประเมินแต่ละรายวิชา  โดยทั่วไปจะสอนโดยครูแต่ละคน  สำหรับระดับมัธยมศึกษา  รายวิชาส่วนใหญ่จัดการเรียนรู้เป็นรายภาคเรียน
1.5  ก่อนเรียนแต่ละหน่วยการเรียนรู้  หน่วยการเรียนรู้เป็นการจัดหมวดหมู่เนื้อหาในสาระการเรียนรู้เดียวกัน  โดยจัดเนื้อหาเรื่องเดียวกันหรือสัมพันธ์กันไว้ในหน่วยเดียวกัน  การวัดและประเมินก่อนเรียนแต่ละหน่วย  เพื่อให้ได้ข้อมูลความรู้พื้นฐานของผู้เรียนในเรื่องหรือหน่วยนั้น  ซึ่งทั้งผู้เรียนและครูผู้สอนสามารถนำไปใช้ในการวางแผนการเรียนรู้และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในหน่วยนั้นได้อย่างเหมาะสม
1.6  ก่อนเรียนแต่ละแผนจัดการเรียนรู้  คือ การวัดและประเมินก่อนเรียนแต่ละครั้ง  ในหนึ่งหน่วยการเรียนรู้มักจะมีสาระที่จะเรียนรู้แยกย่อยสำหรับการสอนมากกว่า 1 ครั้ง  แต่ละครั้งจะมีแผนการจัดการเรียนรู้

        2. ระหว่างเรียน  
จุดประสงค์ของการวัดและประเมินระหว่างเรียน เพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าหรือพัฒนาการของผู้เรียนด้านความรู้ ทักษะกระบวนการ  และคุณลักษณะที่พึงประสงค์  จากการเรียนรู้และการร่วมกิจกรรมของผู้เรียน โดยเทียบกับผลการวัดและประเมินก่อนเรียน  การวัดและประเมินระหว่างเรียนจะทำให้ได้ข้อมูลที่บ่งบอกถึงพัฒนาการการเรียนรู้ของผู้เรียน  ในขณะเดียวกันยังสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของครูด้วย   ข้อมูลจากการวัดและประเมินระหว่างเรียนจะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้เรียน  ครูผู้สอน  สถานศึกษา และผู้ปกครอง  สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุผลการเรียนรู้ที่คาดหวังที่แตกย่อยมาจากมาตรฐานการเรียนรู้  และเป็นข้อมูลที่ใช้ในการปรับปรุงกิจกรรมการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียน 
        3. หลังเรียน  
จุดประสงค์ของการวัดและประเมินหลังเรียน เพื่อตรวจสอบผลการเรียนของผู้เรียนด้านความรู้ ทักษะกระบวนการ  และคุณลักษณะที่พึงประสงค์  จากการเรียนรู้และการร่วมกิจกรรมของผู้เรียน โดยเทียบกับผลการวัดและประเมินก่อนเรียนและระหว่างเรียน  การวัดและประเมินหลังเรียนจะทำให้ได้ข้อมูลที่บ่งบอกถึงพัฒนาการการเรียนรู้ของผู้เรียน  ในขณะเดียวกันยังสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของครูด้วย   ข้อมูลจากการวัดและประเมินหลังเรียนมีจุดประสงค์หลักคือใช้ในการตัดสินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน  นอกจากนี้  การวัดและประเมินผลหลังเรียนอาจจะเป็นข้อมูลก่อนการเรียนในระดับต่อไป  จึงเป็นประโยชน์ทั้งผู้เรียน  และครูผู้สอน  สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปพัฒนาและปรับปรุงการเรียนรู้และการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนหรือกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนและสถานการณ์ 

เอกศักดิ์ บุตรลับ (2537 : 389 – 395) ได้รวบรวมเกี่ยวกับการประเมินผลการเรียนรู้ไว้ดังนี้
การประเมินผล (Evaluation)
            กรมสามัญศึกษา  กระทรวงศึกษาธิการ (2522 : 1)  ให้ความหมายไว้ว่า การประเมินผล หมายถึงกระบวนการพิจารณาตัดสินใจในข้อมูลที่ได้จากการวัดว่า เป็นที่ต้องประสงค์หรือมีค่านิยมถูกต้องหรือไม่มากน้อยเพียงใด การประเมินผลจำเป็นต้องมีเป้าหมายหรือเกณฑ์ไว้ก่อนแล้ว จึงนำข้อมูลที่ได้จากการวัดนั้นมาประเมินในทิศทางตามเป้าหมายมากน้อยเพียงใด
            บุญเชิด ภิญโญอนันตพงษ์ (2521 :6) กล่าวว่า การประเมินผลเป็นกระบวนการที่กระทำต่อจากการวัดผล และวินิจฉัย ตัดสิน สรุปคุณค่าที่ได้จากการวัดอย่างมีหลักเกณฑ์
            เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ และอเนกกุล กรีแสง (2517 : 7) ให้ความหมายการประเมินผลเป็นการใช้   วิจารณญาณตัดสินคุณค่า โดยอาศัยการวัดผลเป็นเครื่องช่วย
            สรุปได้ว่า การประเมินผลเป็นขบวนการพิจารณาตัดสินใจในข้อมูลที่ได้จากการวัดผลว่า สิ่งนั้นหรือบุคคลนั้นดีหรือเลว เก่งหรืออ่อน สอบได้หรือสอบตก เป็นต้น
จุดประสงค์ของการวัดผลและประเมินผลการศึกษา  
            ในการวัดผลและประเมินผลการศึกษานั้น มีจุดประสงค์ที่สำคัญดังนี้ (ลำพอง บุญช่วย ม.ป.ป. : 214-215)
            1. เพื่อการคัดเลือก (Selecion) การพิจารณารับนักเรียนเข้าเรียน ต้องอาศัยการวัดผลและประเมินผลกรรมเพื่อให้ได้บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด
            2. เพื่อจำแนกบุคคล (Classification) การจำแนกบุคคลออกเป็นพวกเก่งอ่อน สอบได้ สอบตก หรือการให้เกรดเป็น A B C D E ก็ต้องอาศัยการวัดผลประเมินผลทั้งสิ้น
            3. เพื่อวินิจฉัย (Diagnosis) การวัดผลและประเมินผลจะช่วยให้ครูสามารถวินิจฉัยได้ว่า เด็กคนใดเก่ง อ่อนด้านใด ซึ่งทำให้มองเห็นวิธีแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆได้
            4. เพื่อประเมินความก้าวหน้า (Assessment) การที่จะทราบได้ว่าผู้เรียนมีความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมไปจากเดิมหรือไม่ เพียงใดนั้น จำเป็นต้องอาศัยการวัดผลประเมินผลเป็นเครื่องชี้ โดยมีการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน แล้วนำมาเปรียบเทียบกันดู ก็จะทำให้ทราบความก้าวหน้าของผู้เรียนได้
            5. เพื่อทำนาย (Prediction) การวัดผลและประเมินผลช่วยให้ได้ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับผู้เรียน ซึ่งสามารถนำมาประกอบในการพิจารราว่า นักเรียนคนใดควรเรียนอะไร ได้ดีในอนาคต ซึ่งจำเป็นสำหรับการแนะแนวเป็นอย่างยิ่ง
            6. เพื่อจูงใจในการเรียนรู้ (Motivating Learning) การวัดผลและประเมินผลเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจในการเรียน เกิดความพยายาม โดยเฉพาะเมื่อมีการทดสอบแล้ว ผู้เรียนได้ทราบผลการสอบของตนย่อมทำให้เกิดความกระตือรือร้นในการเรียน
            7. เพื่อประเมินวิธีการสอนของครู (Evaluation of Treatment) การวัดผลและประเมินผลที่ดีจะต้องวัดผลทั้งตัวผู้เรียนและตัวครู ทั้งนี้เพราะการที่ผู้เรียนไม่ประสบความสำเร็จ อาจเกิดจากวิธีการสอนของครูที่ใช้ไม่ดี วัสดุอุปกรณ์ไม่เหมาะสม ดังนั้นการวัดผลและประเมินผลวิธีการสอนของครูจึงมีความจำเป็น
            8. เพื่อรักษามาตรฐาน (Maintaining Standard) ในการผลิตกำลังคนของสถาบันต่างๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงคุณภาพ วิธีการอันหนึ่งที่จะใช้ในการรักษามาตรฐานก็ได้แก่ การวัดผลและประเมินผลนั่นเอง
ประโยชน์ของการวัดผลและประเมินผลการเรียนการสอน
            การวัดผลและประเมินผลการเรียนการสอน เป็นกระบวนการที่สำคัญในการจัดการเรียนการสอน เพราะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ คือ (กรมสามัญศึกษา 2522 :8)
            1. การประเมินผลช่วยการตัดสินใจในด้านการเรียนการสอน ผลที่ได้จากกระบวนการวัดผลและประเมินผล จะเป็นข้อมูลย้อนกลับที่นำมาใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอน
            2. การประเมินผลช่วยตัดสินใจในด้านการแนะแนว ปกตินักเรียนมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาต่อ การเลือกอาชีพ และปัญหาส่วนตัวอยู่เสมอ ซึ่งการวัดผลจะช่วยในเรื่องนี้ได้ ด้วยการใช้แบบทดสอบชนิดต่างๆ
            3. การประเมินผลช่วยตัดสินใจด้านการบริหาร การประเมินผลการเรียนการสอนจะช่วยให้ผู้บริหารทราบว่า ควรจะแก้ไขปรับปรุงกลไกการบริหารงานของสถานศึกษาอย่างไร
            4. การประเมินผลช่วยตัดสินใจด้านการวิจัย การวิจัยในด้านการเรียนการสอน การแนะแนวและการบริหาร ย่อมต้องอาศัยข้อมูลพื้นฐานจากการวัดผลและประเมินผล หรือเครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในงานวิจัยได้ด้วย
ประเภทของการประเมินผล
การจำแนกประเภทของการประเมินผลนั้น จะจำแนกออกเป็นกี่ประเภทขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่ง โดยทั่วๆ ไปแล้วมีเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งประเภทของการประเมินผลอยู่ 2 เกณฑ์
            1. จุดประสงค์ของการประเมินผล แบ่งออกได้เป็น
                        1.1 การประเมินผล เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน (Formative Evaluation)
                        1.2 การประเมิล เพื่อตัดสินผลการเรียน (Summative Evaluation)
            2. จำแนกตามระบบการวัดผล แบ่งออกได้เป็น
                        2.1 การประเมินผลแบบอิงกลุ่ม (Norm-referenced Evaluation)
                        2.2 การประเมินผลแบบอิงเกณฑ์ (Criterion-referenced Evaluation)
สรุปการประเมินผลการเรียนรู้
            การประเมินผลเป็นขบวนการพิจารณาตัดสินใจในข้อมูลที่ได้จากการวัดผลว่า สิ่งนั้นหรือบุคคลนั้นเป็นอย่างไรเป็นการสรุปเกี่ยวกับสิ่งนั้นเพื่อให้ทราบข้อบกพร่องในการเรียนการสอนและปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น  การวัดและประเมินผลการเรียนนอกจากจะมีประโยชน์โดยตรงต่อผู้เรียนแล้ว ยังสะท้อนถึงประสิทธิภาพการการสอนของครู  และเป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนคุณภาพการดำเนินงานการจัดการศึกษาของสถานศึกษาด้วย  
เกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งประเภทของการประเมินผล
            1. จุดประสงค์ของการประเมินผล แบ่งออกได้เป็น
                        1.1 การประเมินผล เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน (Formative Evaluation)
                        1.2 การประเมิล เพื่อตัดสินผลการเรียน (Summative Evaluation)
            2. จำแนกตามระบบการวัดผล แบ่งออกได้เป็น
                        2.1 การประเมินผลแบบอิงกลุ่ม (Norm-referenced Evaluation)
                        2.2 การประเมินผลแบบอิงเกณฑ์ (Criterion-referenced Evaluation)
จุดประสงค์ของการวัดผลและประเมินผลการศึกษา 
                      1. การประเมินผลช่วยการตัดสินใจในด้านการเรียนการสอน
                      2. การประเมินผลช่วยตัดสินใจในด้านการแนะแนว
                      3. การประเมินผลช่วยตัดสินใจด้านการบริหาร
                     4. การประเมินผลช่วยตัดสินใจด้านการวิจัย

ที่มา:
ภูมิชนะ เกิดพงษ์.[online] https://www.gotoknow.org/posts/181202. การวัดผลกับการประเมินผล.เข้าถึงเมื่อ 16 กรกฎาคม 2558.
ทิวัตถ์  มณีโชติ.[online] ird.rmuti.ac.th/newweb/fmanager/files/1Tiwat.doc. การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน.เข้าถึงเมื่อ 16 กรกฎาคม 2558.
เอกศักดิ์  บุตรลับ. (2537). ครูและการสอน.  (พิมพ์ครั้งที่ 2).  เพชรบุรี : สถาบันราชภัฎเพชรบุรี.
 


การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

ยาเบ็น เรืองจรูญศรี (http://www.kroobannok.com/blog/39847.) ได้รวบรวมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไว้ดังนี้  การเรียนรู้ที่เน้นการเรียนรู้โดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีแนวคิดมาจากแนวคิดของ จอห์น  ดิวอี้ (John Dewey) ซึ่งเป็นต้นคิดในเรื่องของการเรียนรู้โดยการกระทำ หรือ learning by doing ทฤษฎีนี้เป็นที่ยอมรับทั่วโลก ซึ่งรูปแบบของการจัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ โดยเปลี่ยนบทบาทจาก ผู้รับ มาเป็น ผู้เรียน”  และ บทบาทของ  ครู เป็น ผู้ถ่ายทอดข้อมูล มาเป็น ผู้จัดประสบการณ์การเรียนรู้”  ให้ผู้เรียนได้ปรับบทบาทนี้ เท่ากับเป็นการเปลี่ยนจุดการเรียนรู้
นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ดังนี้
ชนาธิป พรกุล ได้ให้ความหมายว่า การเรียนรู้ที่เกิดจากการคิด การค้นคว้า การทดลอง และการสรุปเป็นความรู้โดยตัวผู้เรียนเอง ผู้สอนจะเปลี่ยนบทบาทหน้าที่จากการถ่ายทอดความรู้มาเป็นผู้วางแผน จัดการ ชี้แนะ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียน ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จึงหมายถึง การจัดการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง
ทิศนา แขมมณี กล่าวว่า กระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นตัวตั้ง โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับผู้เรียนและประโยชน์สูงสุดที่ผู้เรียนควรจะได้รับ และมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้อย่างตื่นตัวและได้ใช้กระบวนการเรียรู้ต่างๆ อันจะนำผู้เรียนไปสูการเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง
สำลี รักสุทธี กล่าวว่า การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสำคัญที่สุดคือ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ตามมาตรา 22-24 โดยถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม คือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้างสรรค์ กิจกรรมทางการศึกษา ลงมือปฏิบัติจริง ครูเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ชี้บอกให้ความรู้อย่างเดียว เป็นผู้คอยอำนวยความสะดวก คอยช่วยเหลือแนะนำ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้กับนักเรียน
บรรพต สุวรรณประเสริฐ กล่าวว่า กระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสำคัญที่สุดหมายถึง การกำหนดจุดหมาย สาระ กิจกรรม แหล่งเรียนรู้ สื่อการเรียน และการประเมินผลที่มุ่งพัฒนา คน และ ชีวิต ให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้เต็มตามความสามารถ สอดคล้องกับความถนัด ความสนใจและความต้องการของผู้เรียน
พิมพ์พันธ์ เตชะคุปต์ กล่าวว่า การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนใช้กระบวนการสร้างความรู้ด้วยตนเอง เป็นการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมอย่างกระฉับกระเฉงเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมายเป็นวิธีการที่ให้อำนาจแก่ผู้เรียน ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต
วัฒนาพร ระงับทุกข์ กล่าวว่า การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางคือ การจัดการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับผู้เรียนส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนในเรื่องที่สอดคล้องกับความสามารถและความต้องการของตนเองและได้พัฒนาศักยภาพของตนเองได้เต็มที่
วชิราพร อัจฉริยโกศล กล่าวว่า การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง คือ กระบวนการเรียนรู้ที่ให้อิสระแก่ผู้เรียนในการสำรวจสิ่งที่ศึกษาในด้านที่สนใจ ผลักดันให้หาคำตอบ โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเข้าใจจากผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ซึ่งก็คือผู้สอนนั่นเอง เป็นกระบวนการเรียนรู้แบบทั้งตัวบุคคล รวมทั้งสติปัญญา ความคิด และความรู้สึก
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หมายถึง การจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนรวมในกิจกรรมการเรียนรู้มากที่สุด โดยให้ผู้เรียนเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ได้คิดเอง ปฏิบัติเอง และมี ปฏิสัมพันธ์กับบุคคลหรือแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย จนสามารถสร้างความรู้ด้วยตนเองและนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตได้โดยครูเป็นผู้วางแผนร่วมกับผู้เรียน จัดบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้ กระตุ้น ท้าทาย ให้กำลังใจ และช่วยแก้ปัญหาหรือชี้แนะแนวทางการแสวงหาความรู้ที่ถูกต้องให้แก่ผู้เรียนเป็นรายบุคคล


สุรพล เอี่ยมอู่ทรัพย์ (technology.kku.ac.th/wp-content/ITFilesD/IT001D.pdf.) ได้รวบรวมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไว้ดังนี้  การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ก็คือการจัดการเรียนรู้ที่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน โดยครูผู้สอนหรือผู้จัดการเรียนรู้ พยายามหารูปแบบวิธีการที่เหมาะสมกับผู้เรียนที่จะให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาและเกิดการเรียนรู้ได้มากที่สุด การสอนแบบต่าง ๆ โดยครูผู้สอนอธิบายหรือป้อนความรู้ให้ฝ่ายเดียว คงเป็นแบบอย่างหรือแนวทางที่ค่อนข้างเก่าและล้าสมัยไปแล้ว ผู้เรียนไม่มีโอกาสได้คิดสร้างความรู้ใหม่ ๆ เลย ครูผู้สอนมีความรู้แค่ไหนก็ถ่ายทอดให้แค่นั้น ส่วนผู้เรียนจะได้แค่ไหนก็สุดแล้วแต่ความสามารถของแต่ละคน การเรียนการสอนก็รู้สึกเบื่อหน่ายทั้งครูผู้สอนและผู้เรียน เพราะมีขั้นตอนแบบเดิม ๆ เก่า ๆ ภายในห้องสี่เหลี่ยมเดิม ๆ แต่ในปัจจุบันนี้หมดยุคสมัยดังกล่าวแล้ว ครูพันธุ์ใหม่และนักเรียนพันธุ์ใหม่ ต้องร่วมกันเรียนรู้พร้อมกัน คิดสร้างสรรค์สิ่งแปลก ๆ ใหม่ร่วมกัน ร่วมคิดร่วมเรียนรู้ในสิ่งใหม่ ๆ แต่ก่อนอื่นจะต้องมาเรียนรู้กันก่อนว่า การออกแบบและการวางแผนการจัดการเรียนรู้แบบใหม่ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีกระบวนการขั้นตอนอย่างไร จะได้นาวิธีการหลักการและแนวคิดไปประยุกต์ใช้และพัฒนาให้เกิดประโยชน์กับตัวครูผู้สอน และตัวผู้เรียนต่อไป


http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/ww521/joemsiit/joemsiit-web1/ChildCent/Child_Center1.htmได้รวบรวมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไว้ดังนี้  การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเกิดขึ้นจากพื้นฐานความเชื่อที่ว่า การจัดการศึกษามีเป้าหมายสำคัญที่สุด คือ การจัดการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนแต่ละคนได้พัฒนาตนเองสูงสุด  ตามกำลังหรือศักยภาพของแต่ละคน แต่เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งด้านความต้องการ ความสนใจ ความถนัด และยังมีทักษะพื้นฐานอันเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ในการเรียนรู้ อันได้แก่ ความสามารถในการฟัง พูด อ่าน เขียน ความสามารถทางสมอง ระดับสติปัญญา และการแสดงผลของการเรียนรู้ออกมาในลักษณะที่ต่างกัน จึงควรมีการจัดการที่เหมาะสมในลักษณะที่แตกต่างกัน ตามเหตุปัจจัยของผู้เรียนแต่ละคน และผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกลไกของการจัดการนี้คือ ครู แต่จากข้อมูลอันเป็นปัญหาวิกฤตทางการศึกษา และวิกฤตของผู้เรียนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ครูยังแสดงบทบาทและทำหน้าที่ของตนเองไม่เหมาะสม จึงต้องทบทวนทำความเข้าใจ  ซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการศึกษาและวิกฤตของผู้เรียนต่อไป
          การทบทวนบทบาทของครู ควรเริ่มจากการทบทวนและปรับแต่งความคิด ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของการเรียน โดยต้องถือว่า แก่นแท้ของการเรียนคือการเรียนรู้ของผู้เรียน ต้องเปลี่ยนจากการยึดวิชาเป็นตัวตั้ง มาเป็นยึดมนุษย์หรือผู้เรียนเป็นตัวตั้ง หรือที่เรียกว่า ผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูต้องคำนึงถึงหลักความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นสำคัญ ถ้าจะเปรียบการทำงานของครูกับแพทย์คงไม่ต่างกันมากนัก แพทย์มีหน้าที่บำบัดรักษาอาการป่วยไข้ของผู้ป่วย ด้วยการวิเคราะห์ วินิจฉัยอาการของผู้ป่วยแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน แล้วจัดการบำบัดด้วยการใช้ยาหรือการปฏิบัติอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน วิธีการรักษาแบบหนึ่งแบบใดคงจะใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยทุกคนเหมือน ๆ กันไม่ได้ นอกจากจะมีอาการป่วยแบบเดียวกัน ในทำนองเดียวกัน ครูก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจและศึกษาให้รู้ข้อมูล อันเป็นความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน และหาวิธีสอนที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาผู้เรียนแต่ละคนนั้นให้บรรลุถึงศักยภาพสูงสุดที่มีอยู่ และจากข้อมูลที่เป็นวิกฤตทางการศึกษา และวิกฤตของผู้เรียนอีกประการหนึ่ง คือ การจัดการศึกษาที่ไม่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาปฏิบัติในชีวิตจริง ทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้ที่ยั่งยืน ครูจึงต้องหันมาทบทวนบทบาทและหน้าที่ที่จะต้องแก้ไข โดยต้องตระหนักว่า คุณค่าของการเรียนรู้คือการได้นำสิ่งที่เรียนรู้มานั้นไปปฏิบัติให้เกิดผลด้วย ดังนั้นหลักการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จึงมีสาระที่สำคัญ 2 ประการคือ การจัดการโดยคำนึงถึงความแตกต่างของ ผู้เรียน และการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้นำเอาสิ่งที่เรียนรู้ไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิต เพื่อพัฒนาตนเองไปสู่ศักยภาพสูงสุดที่แต่ละคนจะมีและเป็นได้

สรุปการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
จัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้เรียนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม คือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้างสรรค์ กิจกรรมทางการศึกษา ลงมือปฏิบัติจริง ครูเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ชี้บอกให้ความรู้อย่างเดียว เป็นผู้คอยอำนวยความสะดวก คอยช่วยเหลือแนะนำ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้กับนักเรียนเพื่อพัฒนาตนเองไปสู่ศักยภาพสูงสุดที่แต่ละคนจะมีและเป็นได้

ที่มา:
ยาเบ็น เรืองจรูญศรี.[Online] http://www.kroobannok.com/blog/39847.การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ. เข้าถึงเมื่อ  16  กรกฎาคม  2558
สุรพล เอี่ยมอู่ทรัพย์.[Online] technology.kku.ac.th/wp-content/ITFilesD/IT001D.pdf. สอนอย่างไรที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ.เข้าถึงเมื่อ  16  กรกฎาคม  2558

http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/ww521/joemsiit/joemsiit-web1/ChildCent/Child_Center1.htm.การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ.เข้าถึงเมื่อ  16  กรกฎาคม  2558