ยาเบ็น เรืองจรูญศรี (http://www.kroobannok.com/blog/39847.) ได้รวบรวมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไว้ดังนี้
การเรียนรู้ที่เน้นการเรียนรู้โดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
มีแนวคิดมาจากแนวคิดของ จอห์น ดิวอี้ (John
Dewey) ซึ่งเป็นต้นคิดในเรื่องของการเรียนรู้โดยการกระทำ
หรือ learning by doing ทฤษฎีนี้เป็นที่ยอมรับทั่วโลก
ซึ่งรูปแบบของการจัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ
โดยเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้รับ” มาเป็น “ผู้เรียน” และ บทบาทของ “ ครู” เป็น ผู้ถ่ายทอดข้อมูล
มาเป็น “ผู้จัดประสบการณ์การเรียนรู้” ให้ผู้เรียนได้ปรับบทบาทนี้
เท่ากับเป็นการเปลี่ยนจุดการเรียนรู้
นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
ดังนี้
ชนาธิป พรกุล ได้ให้ความหมายว่า การเรียนรู้ที่เกิดจากการคิด
การค้นคว้า การทดลอง และการสรุปเป็นความรู้โดยตัวผู้เรียนเอง ผู้สอนจะเปลี่ยนบทบาทหน้าที่จากการถ่ายทอดความรู้มาเป็นผู้วางแผน
จัดการ ชี้แนะ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียน
ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จึงหมายถึง
การจัดการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง
ทิศนา แขมมณี กล่าวว่า กระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ
เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นตัวตั้ง
โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับผู้เรียนและประโยชน์สูงสุดที่ผู้เรียนควรจะได้รับ
และมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้
ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้อย่างตื่นตัวและได้ใช้กระบวนการเรียรู้ต่างๆ
อันจะนำผู้เรียนไปสูการเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง
สำลี รักสุทธี กล่าวว่า
การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสำคัญที่สุดคือ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ตามมาตรา 22-24 โดยถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด
ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม คือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้างสรรค์ กิจกรรมทางการศึกษา
ลงมือปฏิบัติจริง ครูเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ชี้บอกให้ความรู้อย่างเดียว
เป็นผู้คอยอำนวยความสะดวก คอยช่วยเหลือแนะนำ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้กับนักเรียน
บรรพต สุวรรณประเสริฐ กล่าวว่า
กระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสำคัญที่สุดหมายถึง การกำหนดจุดหมาย สาระ กิจกรรม
แหล่งเรียนรู้ สื่อการเรียน และการประเมินผลที่มุ่งพัฒนา “คน” และ “ชีวิต” ให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้เต็มตามความสามารถ
สอดคล้องกับความถนัด ความสนใจและความต้องการของผู้เรียน
พิมพ์พันธ์ เตชะคุปต์ กล่าวว่า
การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนใช้กระบวนการสร้างความรู้ด้วยตนเอง
เป็นการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมอย่างกระฉับกระเฉงเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมายเป็นวิธีการที่ให้อำนาจแก่ผู้เรียน
ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต
วัฒนาพร ระงับทุกข์ กล่าวว่า
การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางคือ
การจัดการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับผู้เรียนส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักเรียนรู้ด้วยตนเอง
เรียนในเรื่องที่สอดคล้องกับความสามารถและความต้องการของตนเองและได้พัฒนาศักยภาพของตนเองได้เต็มที่
วชิราพร อัจฉริยโกศล กล่าวว่า
การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง คือ “กระบวนการเรียนรู้ที่ให้อิสระแก่ผู้เรียนในการสำรวจสิ่งที่ศึกษาในด้านที่สนใจ
ผลักดันให้หาคำตอบ โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเข้าใจจากผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ซึ่งก็คือผู้สอนนั่นเอง
เป็นกระบวนการเรียนรู้แบบทั้งตัวบุคคล รวมทั้งสติปัญญา ความคิด และความรู้สึก
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า
การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หมายถึง
การจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนรวมในกิจกรรมการเรียนรู้มากที่สุด
โดยให้ผู้เรียนเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ได้คิดเอง ปฏิบัติเอง และมี
ปฏิสัมพันธ์กับบุคคลหรือแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย
จนสามารถสร้างความรู้ด้วยตนเองและนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตได้โดยครูเป็นผู้วางแผนร่วมกับผู้เรียน
จัดบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้ กระตุ้น ท้าทาย ให้กำลังใจ
และช่วยแก้ปัญหาหรือชี้แนะแนวทางการแสวงหาความรู้ที่ถูกต้องให้แก่ผู้เรียนเป็นรายบุคคล
สุรพล เอี่ยมอู่ทรัพย์ (technology.kku.ac.th/wp-content/ITFilesD/IT001D.pdf.) ได้รวบรวมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไว้ดังนี้
การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
ก็คือการจัดการเรียนรู้ที่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน
โดยครูผู้สอนหรือผู้จัดการเรียนรู้
พยายามหารูปแบบวิธีการที่เหมาะสมกับผู้เรียนที่จะให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาและเกิดการเรียนรู้ได้มากที่สุด
การสอนแบบต่าง ๆ โดยครูผู้สอนอธิบายหรือป้อนความรู้ให้ฝ่ายเดียว
คงเป็นแบบอย่างหรือแนวทางที่ค่อนข้างเก่าและล้าสมัยไปแล้ว
ผู้เรียนไม่มีโอกาสได้คิดสร้างความรู้ใหม่ ๆ เลย
ครูผู้สอนมีความรู้แค่ไหนก็ถ่ายทอดให้แค่นั้น
ส่วนผู้เรียนจะได้แค่ไหนก็สุดแล้วแต่ความสามารถของแต่ละคน
การเรียนการสอนก็รู้สึกเบื่อหน่ายทั้งครูผู้สอนและผู้เรียน เพราะมีขั้นตอนแบบเดิม
ๆ เก่า ๆ ภายในห้องสี่เหลี่ยมเดิม ๆ แต่ในปัจจุบันนี้หมดยุคสมัยดังกล่าวแล้ว
ครูพันธุ์ใหม่และนักเรียนพันธุ์ใหม่ ต้องร่วมกันเรียนรู้พร้อมกัน
คิดสร้างสรรค์สิ่งแปลก ๆ ใหม่ร่วมกัน ร่วมคิดร่วมเรียนรู้ในสิ่งใหม่ ๆ
แต่ก่อนอื่นจะต้องมาเรียนรู้กันก่อนว่า
การออกแบบและการวางแผนการจัดการเรียนรู้แบบใหม่ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
มีกระบวนการขั้นตอนอย่างไร
จะได้นาวิธีการหลักการและแนวคิดไปประยุกต์ใช้และพัฒนาให้เกิดประโยชน์กับตัวครูผู้สอน
และตัวผู้เรียนต่อไป
http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/ww521/joemsiit/joemsiit-web1/ChildCent/Child_Center1.htm. ได้รวบรวมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไว้ดังนี้
การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเกิดขึ้นจากพื้นฐานความเชื่อที่ว่า
การจัดการศึกษามีเป้าหมายสำคัญที่สุด คือ การจัดการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
เพื่อให้ผู้เรียนแต่ละคนได้พัฒนาตนเองสูงสุด ตามกำลังหรือศักยภาพของแต่ละคน
แต่เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งด้านความต้องการ ความสนใจ
ความถนัด และยังมีทักษะพื้นฐานอันเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ในการเรียนรู้
อันได้แก่ ความสามารถในการฟัง พูด อ่าน เขียน ความสามารถทางสมอง ระดับสติปัญญา
และการแสดงผลของการเรียนรู้ออกมาในลักษณะที่ต่างกัน
จึงควรมีการจัดการที่เหมาะสมในลักษณะที่แตกต่างกัน
ตามเหตุปัจจัยของผู้เรียนแต่ละคน และผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกลไกของการจัดการนี้คือ
ครู แต่จากข้อมูลอันเป็นปัญหาวิกฤตทางการศึกษา และวิกฤตของผู้เรียนที่ผ่านมา
แสดงให้เห็นว่า ครูยังแสดงบทบาทและทำหน้าที่ของตนเองไม่เหมาะสม
จึงต้องทบทวนทำความเข้าใจ ซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการศึกษาและวิกฤตของผู้เรียนต่อไป
การทบทวนบทบาทของครู ควรเริ่มจากการทบทวนและปรับแต่งความคิด ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของการเรียน
โดยต้องถือว่า แก่นแท้ของการเรียนคือการเรียนรู้ของผู้เรียน
ต้องเปลี่ยนจากการยึดวิชาเป็นตัวตั้ง มาเป็นยึดมนุษย์หรือผู้เรียนเป็นตัวตั้ง
หรือที่เรียกว่า ผู้เรียนเป็นสำคัญ
ครูต้องคำนึงถึงหลักความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นสำคัญ ถ้าจะเปรียบการทำงานของครูกับแพทย์คงไม่ต่างกันมากนัก
แพทย์มีหน้าที่บำบัดรักษาอาการป่วยไข้ของผู้ป่วย ด้วยการวิเคราะห์
วินิจฉัยอาการของผู้ป่วยแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน
แล้วจัดการบำบัดด้วยการใช้ยาหรือการปฏิบัติอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน
วิธีการรักษาแบบหนึ่งแบบใดคงจะใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยทุกคนเหมือน ๆ กันไม่ได้
นอกจากจะมีอาการป่วยแบบเดียวกัน ในทำนองเดียวกัน
ครูก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจและศึกษาให้รู้ข้อมูล
อันเป็นความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน และหาวิธีสอนที่เหมาะสม
เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาผู้เรียนแต่ละคนนั้นให้บรรลุถึงศักยภาพสูงสุดที่มีอยู่
และจากข้อมูลที่เป็นวิกฤตทางการศึกษา และวิกฤตของผู้เรียนอีกประการหนึ่ง คือ
การจัดการศึกษาที่ไม่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาปฏิบัติในชีวิตจริง
ทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้ที่ยั่งยืน ครูจึงต้องหันมาทบทวนบทบาทและหน้าที่ที่จะต้องแก้ไข
โดยต้องตระหนักว่า
คุณค่าของการเรียนรู้คือการได้นำสิ่งที่เรียนรู้มานั้นไปปฏิบัติให้เกิดผลด้วย
ดังนั้นหลักการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จึงมีสาระที่สำคัญ 2 ประการคือ การจัดการโดยคำนึงถึงความแตกต่างของ ผู้เรียน และการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้นำเอาสิ่งที่เรียนรู้ไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
เพื่อพัฒนาตนเองไปสู่ศักยภาพสูงสุดที่แต่ละคนจะมีและเป็นได้
สรุปการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
จัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้เรียนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม
คือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้างสรรค์ กิจกรรมทางการศึกษา ลงมือปฏิบัติจริง
ครูเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ชี้บอกให้ความรู้อย่างเดียว เป็นผู้คอยอำนวยความสะดวก
คอยช่วยเหลือแนะนำ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้กับนักเรียนเพื่อพัฒนาตนเองไปสู่ศักยภาพสูงสุดที่แต่ละคนจะมีและเป็นได้
ที่มา:
ยาเบ็น เรืองจรูญศรี.[Online] http://www.kroobannok.com/blog/39847.การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ. เข้าถึงเมื่อ 16 กรกฎาคม 2558
สุรพล เอี่ยมอู่ทรัพย์.[Online] technology.kku.ac.th/wp-content/ITFilesD/IT001D.pdf. สอนอย่างไรที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ.เข้าถึงเมื่อ 16 กรกฎาคม 2558
http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/ww521/joemsiit/joemsiit-web1/ChildCent/Child_Center1.htm.การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ.เข้าถึงเมื่อ 16 กรกฎาคม 2558
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น