ภูมิชนะ เกิดพงษ์ (https://www.gotoknow.org/posts/181202.) ได้รวบรวมความหมายของวัดผลและการประเมินผลไว้ว่า การวัดผลและการประเมินผลมีความสัมพันธ์กัน
กล่าวคือ การวัดผลจะทำให้ได้ตัวเลข ปริมาณ
หรือรายละเอียดของคุณลักษณะหรือพฤติกรรมของบุคคล
จากนั้นจะนำเอาผลการวัดนี้ไปพิจารณาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพื่อตัดสิน
หรือลงสรุปเกี่ยวกับสิ่งนั้น
ซึ่งเรียกว่าการประเมินผลการวัดผลและประเมินผลการศึกษา เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนการสอนตลอดเวลา
ซึ่งจุดมุ่งหมายของการวัดผลและประเมินผลนั้น
ไม่ใช่เฉพาะการนำผลการวัดไปตัดสินได้-ตก หรือใครควรจะได้เกรดอะไรเท่านั้น
แต่ควรนำผลการวัดและประเมินนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาในหลาย ๆ
ลักษณะดังนี้
1.
เพื่อค้นและพัฒนาสมรรถภาพของนักเรียน
หมายถึงการวัดผลและประเมินผลเพื่อดูว่านักเรียนบกพร่องหรือไม่เข้าใจในเรื่องใด
ตอนใด แล้วครูพยายามสอนให้นักเรียนเกิดความรู้
มีความเจริญงอกงามตามศักยภาพของตนเอง จุดมุ่งหมายข้อนี้สำคัญมาก
หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น ปรัชญาการวัดผลการศึกษา (ชวาล แพรัตกุล. 2516 : 34)
2. เพื่อจัดตำแหน่ง (placement) การวัดผลและประเมินผลวิธีนี้เพื่อเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นๆ
โดยอาศัยกลุ่มเป็นเกณฑ์ว่าใครเด่น-ด้อย ใครได้อันดับที่ 1 ใครสอบได้-ตก
หรือใครควรได้เกรดอะไร เป็นต้น
การวัดผลและประเมินผลวิธีนี้เหมาะสำหรับการตัดสินผลการเรียนแบบอิงกลุ่ม
และการคัดเลือกคนเข้าทำงาน
3. เพื่อวินิจฉัย (diagnostic) เป็นการวัดผลและประเมินผลที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อหาความบกพร่องของผู้เรียนว่าวิชาที่เรียนนั้นมีจุดบกพร่องตอนใด
เพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไข ซ่อมเสริมส่วนที่ขาดหายไปให้ดียิ่งขึ้น
ซึ่งในกระบวนการเรียนการสอนเรียกว่าการวัดผลย่อย (formative measurement)
4. เพื่อเปรียบเทียบ (assessment) เป็นการวัดผลและประเมินผลเพื่อเปรียบเทียบตนเอง
หรือ เพื่อดูความงอกงามของเด็กแต่ละคนในช่วงเวลาที่ต่างกัน
ว่าเจริญงอกงามเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมากน้อยเพียงใด เช่น การเปรียบเทียบผลก่อนเรียน(pre-test)
และหลังเรียน (post-test)
5. เพื่อพยากรณ์ (prediction) เป็นการวัดผลและประเมินผลเพื่อทำนายอนาคตต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร
นั่นคือเมื่อเด็กคนหนึ่งสอบแล้วสามารถรู้อนาคตได้เลยว่า
ถ้าการเรียนของเด็กอยู่ในลักษณะนี้ต่อไปแล้วการเรียนจะประสบผลสำเร็จหรือไม่
ซึ่งสามารถนำไปใช้ในเรื่องของการแนะแนวการศึกษาว่านักเรียนควรเรียนสาขาใด
หรืออาชีพใดจึงจะเรียนได้สำเร็จ แบบทดสอบที่ใช้วัด จุดมุ่งหมายในข้อนี้ ได้แก่
แบบทดสอบวัดความถนัด (aptitude test) แบบทดสอบวัดเชาว์ปัญญา
(intelligence test) เป็นต้น
6.เพื่อประเมินผล(evaluation)เป็นการนำผลที่ได้จากการวัดไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้
เพื่อตัดสินลงสรุปให้คุณค่าของการศึกษา หลักสูตรหรือ
เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลว่าเหมาะสมหรือไม่ และควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร
ทิวัตถ์ มณีโชติ (ird.rmuti.ac.th/newweb/fmanager/files/1Tiwat.doc) ได้รวบรวมเกี่ยวกับการประเมินผลการเรียนรู้ไว้ดังนี้ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน เป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
ทำให้ได้ข้อมูลสารสนเทศที่จำเป็นในการพิจารณาว่าผู้เรียนเกิดคุณภาพการเรียนรู้ตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและมาตรฐานการเรียนรู้
การวัดและประเมินผลการเรียนนอกจากจะมีประโยชน์โดยตรงต่อผู้เรียนแล้ว
ยังสะท้อนถึงประสิทธิภาพการการสอนของครู
และเป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนคุณภาพการดำเนินงานการจัดการศึกษาของสถานศึกษาด้วย
ดังนั้นครูและสถานศึกษาต้องมีข้อมูลผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ทั้งจากการประเมินในระดับชั้นเรียน ระดับสถานศึกษา และระดับอื่นที่สูงขึ้น
ประโยชน์ของการวัดและการประเมินผลการเรียนรู้จำแนกเป็นด้านๆ ดังนี้
1.
ด้านการจัดการเรียนรู้
การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนมีประโยชน์ต่อการจัดการเรียนรู้หรือการจัดการเรียนการสอนดังนี้
1.1 เพื่อจัดตำแหน่ง (Placement) ผลจากการวัดบอกได้ว่าผู้เรียนมีความรู้ความสามารถอยู่ในระดับใดของกลุ่มหรือเปรียบเทียบกับเกณฑ์แล้วอยู่ในระดับใด การวัดและประเมินเพื่อจัดตำแหน่งนี้
มักใช้ในวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ
1.1.1 เพื่อคัดเลือก (Selection) เป็นการใช้ผลการวัดเพื่อคัดเลือกเพื่อเข้าเรียน เข้าร่วมกิจกรรม-โครงการ
หรือเป็นตัวแทน(เช่นของชั้นเรียนหรือสถานศึกษา) เพื่อการทำกิจกรรม หรือการให้ทุนผล การวัดและประเมินผลลักษณะนี้คำนึงถึงการจัดอันดับที่เป็นสำคัญ
1.1.2 เพื่อแยกประเภท (Classification)
เป็นการใช้ผลการวัดและประเมินเพื่อแบ่งกลุ่มผู้เรียน
เช่น แบ่งเป็นกลุ่มอ่อน ปานกลาง
และเก่ง
แบ่งกลุ่มผ่าน-ไม่ผ่านเกณฑ์ หรือตัดสินได้-ตก เป็นต้น
เป็นการวัดและประเมินที่ยึดเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งกลุ่มเป็นสำคัญ
1.2 เพื่อวินิจฉัย (Diagnostic)
เป็นการใช้ผลการวัดและประเมินเพื่อค้นหาจุดเด่น-จุดด้อยของผู้เรียนว่ามีปัญหาในเรื่องใด จุดใด
มากน้อยแค่ไหน
เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจการวางแผนการจัดการเรียนรู้และการปรับปรุงการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เครื่องมือที่ใช้วัดเพื่อการวินิจฉับ เรียกว่า แบบทดสอบวินิจฉัย (Diagnostic Test) หรือแบบทดสอบวินิจฉัยการเรียน ประโยชน์ของการวัดและประเมินประเภทนี้นำไปใช้ในวัตถุประสงค์
2 ประการดังนี้
1.2.1 เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน
ผลการวัดผู้เรียนด้วยแบบทดสอบวินิจฉัยการเรียนจะทำให้ทราบว่าผู้เรียนมีจุดบกพร่องจุดใด มากน้อยเพียงใด
ซึ่งครูผู้สอนสามารถแก้ไขปรับปรุงโดยการสอนซ่อมเสริม (Remedial Teaching) ได้ตรงจุด
เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่คาดหวังไว้
1.2.2 เพื่อปรับปรุงการจัดการเรียนรู้
ผลการวัดด้วยแบบทดสอบวินิจฉัยการเรียน
นอกจากจะช่วยให้เห็นว่าผู้เรียนมีจุดบกพร่องเรื่องใดแล้ว
ยังช่วยให้เห็นจุดบกพร่องของกระบวนการจัดการเรียนรู้อีกด้วย เช่น
ผู้เรียนส่วนใหญ่มีจุดบกพร่องจุดเดียวกัน
ครูผู้สอนต้องทบทวนว่าอาจจะเป็นเพราะวิธีการจัดการเรียนรู้ไม่เหมาะสมต้องปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม
1.3 เพื่อตรวจสอบและปรับปรุง
การประเมินเพื่อพัฒนา (Formative
Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อตรวจสอบผลการเรียนรู้เทียบกับจุดประสงค์หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
ผลจากการประเมินใช้พัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยอาจจะปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนวิธีการสอน (Teaching Method) ปรับเปลี่ยนสื่อการสอน (Teaching Media) ใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ (Teaching Innovation) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
1.4 เพื่อการเปรียบเทียบ (Assessment) เป็นการใช้ผลการวัดและประเมินเปรียบเทียบว่าผู้เรียนมีพัฒนาการจากเดิมเพียงใด
และอยู่ในระดับที่พึงพอใจหรือไม่
1.5 เพื่อการตัดสิน การประเมินเพื่อการตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนเป็นการประเมินรวม
(Summative Evaluation) คือใช้ข้อมูลที่ได้จากการวัดเทียบกับเกณฑ์เพื่อตัดสินผลการเรียนว่าผ่าน-ไม่ผ่าน หรือให้ระดับคะแนน
2 ด้านการแนะแนว
ผลจากการวัดและประเมินผู้เรียน
ช่วยให้ทราบว่าผู้เรียนมีปัญหาและข้อบกพร่องในเรื่องใด มากน้อยเพียงใด
ซึ่งสามารถแนะนำและช่วยเหลือผู้เรียนให้แก้ปัญหา
มีการปรับตัวได้ถูกต้องตรงประเด็น
นอกจากนี้ผลการวัดและประเมินยังบ่งบอกความรู้ความสามารถ ความถนัด
และความสนใจของผู้เรียน
ซึ่งสามารถนำไปใช้แนะแนวการศึกษาต่อและแนะแนวการเลือกอาชีพให้แก่ผู้เรียนได้
3. ด้านการบริหาร
ข้อมูลจากการวัดและประเมินผู้เรียน
ช่วยให้ผู้บริหารเห็นข้อบกพร่องต่างๆ ของการจัดการเรียนรู้
เป็นการประเมินผลการปฏิบัติงานของครู
และบ่งบอกถึงคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษา
ผู้บริหารสถานศึกษามักใช้ข้อมูลได้จากการวัดและประเมินใช้ในการตัดสินใจหลายอย่าง
เช่น การพัฒนาบุคลากร การจัดครูเข้าสอน
การจัดโครงการ การเปลี่ยนแปลงโปรแกรมการเรียน
นอกจากนี้การวัดและประเมินผลยังให้ข้อมูลที่สำคัญใน
การจัดทำรายงานการประเมินตนเอง (SSR) เพื่อรายงานผลการจัดการศึกษาสู่ผู้ปกครอง สาธารณชน หน่วยงานต้นสังกัด และนำไปสู่การรองรับการประเมินภายนอก
จะเห็นว่าการวัดและประเมินผลการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของระบบการประกันคุณภาพทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา
4. ด้านการวิจัย
การวัดและประเมินผลมีประโยชน์ต่อการวิจัยหลายประการดังนี้
4.1
ข้อมูลจาการวัดและประเมินผลนำไปสู่ปัญหาการวิจัย เช่น
ผลจากการวัดและประเมินพบว่าผู้เรียนมีจุดบกพร่องหรือมีจุดที่ควรพัฒนาการแก้ไขจุดบกพร่องหรือการพัฒนาดังกล่าวโดยการปรับเปลี่ยนเทคนิควิธีสอนหรือทดลองใช้นวัตกรรมโดยใช้กระบวนการวิจัย
การวิจัยดังกล่าวเรียกว่า
การวิจัยในชั้นเรียน (Classroom
Research) นอกจากนี้ผลจากการวัดและประเมินยังนำไปสู่การวิจัยในด้านอื่น
ระดับอื่น เช่น
การวิจัยของสถานศึกษาเกี่ยวกับการทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาคุณลักษณะของผู้เรียน
เป็นต้น
4.2
การวัดและประเมินเป็นเครื่องมือของการวิจัย
การวิจัยใช้การวัดในการรวบรวมข้อมูลเพื่อศึกษาผลการวิจัย
ขั้นตอนนี้เริ่มจากการหาหรือสร้างเครื่องมือวัด
การทดลองใช้เครื่องมือ
การหาคุณภาพเครื่องมือ
จนถึงการใช้เครื่องมือที่มีคุณภาพแล้วรวบรวมข้อมูลการวัดตัวแปรที่ศึกษา หรืออาจต้องตีค่าข้อมูล
จะเห็นว่าการวัดและประเมินผลมีบทบาทสำคัญมากในการวิจัย เพราะการวัดไม่ดี ใช้เครื่องมือไม่มีคุณภาพ ผลของการวิจัยก็ขาดความน่าเชื่อถือ
การวัดและประเมินก่อนเรียน
ระหว่างเรียน และหลังเรียน
ก่อนเรียน ระหว่างเรียน และหลังเรียน 3
คำนี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน
แต่ต่างกันที่ระยะเวลาและจุดประสงค์ของการวัดและประเมิน 3
คำนี้มีความหมายทั้งในมิติที่กว้างและแคบ
ดังนี้
1. ก่อนเรียน
การวัดและประเมินก่อนเรียนมีจุดประสงค์เพื่อมทราบสภาพของผู้เรียน ณ
เวลาก่อนที่จะเรียน เช่น ความรู้พื้นฐานในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ก่อนเรียนอาจจะหมายถึง
1.1 ก่อนเข้าเรียน ซึ่งอาจจะตั้งแต่ก่อนเรียนระดับปฐมวัย
หรือก่อนจะเริ่มเรียนหลักสูตรสถานศึกษานั้น
เช่น สถานศึกษาที่เปิดสอนในช่วงชั้นที่ 1 และ 2
ก่อนเรียนในที่นี้อาจจะหมายถึงก่อนเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เป็นต้น
1.2 ก่อนเรียนช่วงชั้น
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ความสำคัญกับช่วงชั้น
ให้มีการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนเมื่อจบแต่ละช่วงชั้น
ก่อนเรียนในที่นี้จึงหมายถึงก่อนจะเริ่มเรียนช่วงชั้นใดช่วงชั้นหนึ่ง เช่น
ก่อนเรียนช่วงชั้นที่ 2 คือ ก่อนเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เป็นต้น
1.3 ก่อนเรียนแต่ละชั้น ถึงแม้จะมีการกำหนดเป็นช่วงชั้น
แต่ชั้นเรียนหรือการเรียนแต่ละปีก็ยังมีความสำคัญ โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษา การเรียนแต่ละชั้น/ปี
อาจจะหมายถึงการเรียนกับครูคนใดคนหนึ่ง (กรณีที่ครูคนเดียวสอนนักเรียนทั้งชั้นทุกวิชาหรือเกือบทุกวิชา โดยทั่วไปจะเป็นครูประจำชั้น)
หรือเรียนครูกลุ่มหนึ่ง (สอนแยกรายวิชา)
การวัดและประเมินก่อนเรียนแต่ละชั้นจะเป็นประโยชน์ต่อครูผู้สอนในการวางแผนการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนตลอดทั้งปี
1.4
ก่อนเรียนแต่ละรายวิชา มีลักษณะเช่นเดียวกับก่อนเรียนแต่ละชั้น
การวัดและประเมินก่อนเรียนแต่ละชั้นอาจจะวัดและประเมินในภาพรวมหลายๆ
วิชา แต่การวัดและประเมินนี้ แยกวัดและประเมินแต่ละรายวิชา โดยทั่วไปจะสอนโดยครูแต่ละคน สำหรับระดับมัธยมศึกษา รายวิชาส่วนใหญ่จัดการเรียนรู้เป็นรายภาคเรียน
1.5
ก่อนเรียนแต่ละหน่วยการเรียนรู้
หน่วยการเรียนรู้เป็นการจัดหมวดหมู่เนื้อหาในสาระการเรียนรู้เดียวกัน โดยจัดเนื้อหาเรื่องเดียวกันหรือสัมพันธ์กันไว้ในหน่วยเดียวกัน การวัดและประเมินก่อนเรียนแต่ละหน่วย
เพื่อให้ได้ข้อมูลความรู้พื้นฐานของผู้เรียนในเรื่องหรือหน่วยนั้น
ซึ่งทั้งผู้เรียนและครูผู้สอนสามารถนำไปใช้ในการวางแผนการเรียนรู้และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในหน่วยนั้นได้อย่างเหมาะสม
1.6
ก่อนเรียนแต่ละแผนจัดการเรียนรู้
คือ การวัดและประเมินก่อนเรียนแต่ละครั้ง
ในหนึ่งหน่วยการเรียนรู้มักจะมีสาระที่จะเรียนรู้แยกย่อยสำหรับการสอนมากกว่า
1 ครั้ง
แต่ละครั้งจะมีแผนการจัดการเรียนรู้
2. ระหว่างเรียน
จุดประสงค์ของการวัดและประเมินระหว่างเรียน
เพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าหรือพัฒนาการของผู้เรียนด้านความรู้ ทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ จากการเรียนรู้และการร่วมกิจกรรมของผู้เรียน
โดยเทียบกับผลการวัดและประเมินก่อนเรียน
การวัดและประเมินระหว่างเรียนจะทำให้ได้ข้อมูลที่บ่งบอกถึงพัฒนาการการเรียนรู้ของผู้เรียน ในขณะเดียวกันยังสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของครูด้วย ข้อมูลจากการวัดและประเมินระหว่างเรียนจะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งผู้เรียน ครูผู้สอน สถานศึกษา และผู้ปกครอง สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุผลการเรียนรู้ที่คาดหวังที่แตกย่อยมาจากมาตรฐานการเรียนรู้
และเป็นข้อมูลที่ใช้ในการปรับปรุงกิจกรรมการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียน
3. หลังเรียน
จุดประสงค์ของการวัดและประเมินหลังเรียน
เพื่อตรวจสอบผลการเรียนของผู้เรียนด้านความรู้ ทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ จากการเรียนรู้และการร่วมกิจกรรมของผู้เรียน
โดยเทียบกับผลการวัดและประเมินก่อนเรียนและระหว่างเรียน
การวัดและประเมินหลังเรียนจะทำให้ได้ข้อมูลที่บ่งบอกถึงพัฒนาการการเรียนรู้ของผู้เรียน
ในขณะเดียวกันยังสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของครูด้วย
ข้อมูลจากการวัดและประเมินหลังเรียนมีจุดประสงค์หลักคือใช้ในการตัดสินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน นอกจากนี้
การวัดและประเมินผลหลังเรียนอาจจะเป็นข้อมูลก่อนการเรียนในระดับต่อไป จึงเป็นประโยชน์ทั้งผู้เรียน และครูผู้สอน
สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปพัฒนาและปรับปรุงการเรียนรู้และการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนหรือกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนและสถานการณ์
เอกศักดิ์
บุตรลับ (2537 : 389 – 395) ได้รวบรวมเกี่ยวกับการประเมินผลการเรียนรู้ไว้ดังนี้
การประเมินผล (Evaluation)
กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (2522 : 1) ให้ความหมายไว้ว่า
การประเมินผล หมายถึงกระบวนการพิจารณาตัดสินใจในข้อมูลที่ได้จากการวัดว่า
เป็นที่ต้องประสงค์หรือมีค่านิยมถูกต้องหรือไม่มากน้อยเพียงใด
การประเมินผลจำเป็นต้องมีเป้าหมายหรือเกณฑ์ไว้ก่อนแล้ว
จึงนำข้อมูลที่ได้จากการวัดนั้นมาประเมินในทิศทางตามเป้าหมายมากน้อยเพียงใด
บุญเชิด ภิญโญอนันตพงษ์ (2521 :6) กล่าวว่า
การประเมินผลเป็นกระบวนการที่กระทำต่อจากการวัดผล และวินิจฉัย ตัดสิน
สรุปคุณค่าที่ได้จากการวัดอย่างมีหลักเกณฑ์
เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ และอเนกกุล
กรีแสง (2517 : 7) ให้ความหมายการประเมินผลเป็นการใช้ วิจารณญาณตัดสินคุณค่า
โดยอาศัยการวัดผลเป็นเครื่องช่วย
สรุปได้ว่า
การประเมินผลเป็นขบวนการพิจารณาตัดสินใจในข้อมูลที่ได้จากการวัดผลว่า
สิ่งนั้นหรือบุคคลนั้นดีหรือเลว เก่งหรืออ่อน สอบได้หรือสอบตก เป็นต้น
จุดประสงค์ของการวัดผลและประเมินผลการศึกษา
ในการวัดผลและประเมินผลการศึกษานั้น
มีจุดประสงค์ที่สำคัญดังนี้ (ลำพอง บุญช่วย ม.ป.ป. : 214-215)
1. เพื่อการคัดเลือก (Selecion)
การพิจารณารับนักเรียนเข้าเรียน
ต้องอาศัยการวัดผลและประเมินผลกรรมเพื่อให้ได้บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด
2. เพื่อจำแนกบุคคล
(Classification) การจำแนกบุคคลออกเป็นพวกเก่งอ่อน สอบได้
สอบตก หรือการให้เกรดเป็น A B C D E ก็ต้องอาศัยการวัดผลประเมินผลทั้งสิ้น
3. เพื่อวินิจฉัย (Diagnosis)
การวัดผลและประเมินผลจะช่วยให้ครูสามารถวินิจฉัยได้ว่า เด็กคนใดเก่ง
อ่อนด้านใด ซึ่งทำให้มองเห็นวิธีแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆได้
4. เพื่อประเมินความก้าวหน้า
(Assessment) การที่จะทราบได้ว่าผู้เรียนมีความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมไปจากเดิมหรือไม่
เพียงใดนั้น จำเป็นต้องอาศัยการวัดผลประเมินผลเป็นเครื่องชี้ โดยมีการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน
แล้วนำมาเปรียบเทียบกันดู ก็จะทำให้ทราบความก้าวหน้าของผู้เรียนได้
5. เพื่อทำนาย (Prediction)
การวัดผลและประเมินผลช่วยให้ได้ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับผู้เรียน
ซึ่งสามารถนำมาประกอบในการพิจารราว่า นักเรียนคนใดควรเรียนอะไร ได้ดีในอนาคต
ซึ่งจำเป็นสำหรับการแนะแนวเป็นอย่างยิ่ง
6. เพื่อจูงใจในการเรียนรู้
(Motivating Learning) การวัดผลและประเมินผลเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจในการเรียน
เกิดความพยายาม โดยเฉพาะเมื่อมีการทดสอบแล้ว ผู้เรียนได้ทราบผลการสอบของตนย่อมทำให้เกิดความกระตือรือร้นในการเรียน
7. เพื่อประเมินวิธีการสอนของครู
(Evaluation of Treatment) การวัดผลและประเมินผลที่ดีจะต้องวัดผลทั้งตัวผู้เรียนและตัวครู
ทั้งนี้เพราะการที่ผู้เรียนไม่ประสบความสำเร็จ
อาจเกิดจากวิธีการสอนของครูที่ใช้ไม่ดี วัสดุอุปกรณ์ไม่เหมาะสม
ดังนั้นการวัดผลและประเมินผลวิธีการสอนของครูจึงมีความจำเป็น
8. เพื่อรักษามาตรฐาน
(Maintaining Standard) ในการผลิตกำลังคนของสถาบันต่างๆ
จำเป็นต้องคำนึงถึงคุณภาพ วิธีการอันหนึ่งที่จะใช้ในการรักษามาตรฐานก็ได้แก่
การวัดผลและประเมินผลนั่นเอง
ประโยชน์ของการวัดผลและประเมินผลการเรียนการสอน
การวัดผลและประเมินผลการเรียนการสอน
เป็นกระบวนการที่สำคัญในการจัดการเรียนการสอน เพราะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ
คือ (กรมสามัญศึกษา 2522 :8)
1. การประเมินผลช่วยการตัดสินใจในด้านการเรียนการสอน
ผลที่ได้จากกระบวนการวัดผลและประเมินผล
จะเป็นข้อมูลย้อนกลับที่นำมาใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอน
2. การประเมินผลช่วยตัดสินใจในด้านการแนะแนว
ปกตินักเรียนมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาต่อ การเลือกอาชีพ
และปัญหาส่วนตัวอยู่เสมอ ซึ่งการวัดผลจะช่วยในเรื่องนี้ได้
ด้วยการใช้แบบทดสอบชนิดต่างๆ
3. การประเมินผลช่วยตัดสินใจด้านการบริหาร
การประเมินผลการเรียนการสอนจะช่วยให้ผู้บริหารทราบว่า
ควรจะแก้ไขปรับปรุงกลไกการบริหารงานของสถานศึกษาอย่างไร
4. การประเมินผลช่วยตัดสินใจด้านการวิจัย
การวิจัยในด้านการเรียนการสอน การแนะแนวและการบริหาร
ย่อมต้องอาศัยข้อมูลพื้นฐานจากการวัดผลและประเมินผล
หรือเครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในงานวิจัยได้ด้วย
ประเภทของการประเมินผล
การจำแนกประเภทของการประเมินผลนั้น
จะจำแนกออกเป็นกี่ประเภทขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่ง โดยทั่วๆ
ไปแล้วมีเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งประเภทของการประเมินผลอยู่ 2 เกณฑ์
1. จุดประสงค์ของการประเมินผล
แบ่งออกได้เป็น
1.1
การประเมินผล เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน (Formative Evaluation)
1.2
การประเมิล เพื่อตัดสินผลการเรียน (Summative Evaluation)
2. จำแนกตามระบบการวัดผล
แบ่งออกได้เป็น
2.1
การประเมินผลแบบอิงกลุ่ม (Norm-referenced Evaluation)
2.2 การประเมินผลแบบอิงเกณฑ์
(Criterion-referenced Evaluation)
สรุปการประเมินผลการเรียนรู้
การประเมินผลเป็นขบวนการพิจารณาตัดสินใจในข้อมูลที่ได้จากการวัดผลว่า
สิ่งนั้นหรือบุคคลนั้นเป็นอย่างไรเป็นการสรุปเกี่ยวกับสิ่งนั้นเพื่อให้ทราบข้อบกพร่องในการเรียนการสอนและปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น การวัดและประเมินผลการเรียนนอกจากจะมีประโยชน์โดยตรงต่อผู้เรียนแล้ว
ยังสะท้อนถึงประสิทธิภาพการการสอนของครู
และเป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนคุณภาพการดำเนินงานการจัดการศึกษาของสถานศึกษาด้วย
เกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งประเภทของการประเมินผล
1. จุดประสงค์ของการประเมินผล
แบ่งออกได้เป็น
1.1
การประเมินผล เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน (Formative Evaluation)
1.2
การประเมิล เพื่อตัดสินผลการเรียน (Summative Evaluation)
2. จำแนกตามระบบการวัดผล
แบ่งออกได้เป็น
2.1
การประเมินผลแบบอิงกลุ่ม (Norm-referenced Evaluation)
2.2 การประเมินผลแบบอิงเกณฑ์
(Criterion-referenced Evaluation)
จุดประสงค์ของการวัดผลและประเมินผลการศึกษา
1. การประเมินผลช่วยการตัดสินใจในด้านการเรียนการสอน
2. การประเมินผลช่วยตัดสินใจในด้านการแนะแนว
3. การประเมินผลช่วยตัดสินใจด้านการบริหาร
4. การประเมินผลช่วยตัดสินใจด้านการวิจัย
ที่มา:
เอกศักดิ์ บุตรลับ. (2537). ครูและการสอน.
(พิมพ์ครั้งที่ 2). เพชรบุรี : สถาบันราชภัฎเพชรบุรี.